วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555


แตงโมคุณภาพคืออย่างไร
                  ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมกลุ่มผู้ปลูกแตงโมคุณภาพ  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่ม  ทำให้ผมได้รู้และน่าทึ่งมากในการจัดการความรู้ของกลุ่ม  จึงอยากจะเล่าให้ท่านได้รู้จัก  กลุ่มผู้ปลูกแตงโมคุณภาพเขาจัดการความรู้ในกลุ่มอย่างไร  แตงโมคุณภาพของเขาคืออย่างไร  ซึ่งมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการอย่างเยี่ยมยอด      คุณเตือนใจ  บุพศิริ  ประธานกลุ่มผู้ปลูกแตงโมคุณภาพ  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวน  เมื่อปี  2548  และได้รับทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น       พึ่งกลับมาได้  1  สัปดาห์  เล่าให้คณะของเราฟังว่า  ครั้งแรกตั้งกลุ่มเมื่อปี  2536  มีสมาชิกประมาณ  10  คน  มีพื้นที่ปลูกแตงโมประมาณ  100  ไร่  เท่านั้น  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ  200  คน พื้นที่ปลูกแตงโม  4,000 ไร่ 
การบริหารจัดการกลุ่ม                               
     เมื่อกลุ่มมีสมาชิกมากขึ้น  กลุ่มโตขึ้นใหญ่ขึ้น  การปฏิบัติงานมีความซับซ้อนมากขึ้น      ทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากมากขึ้น จึงมีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น  15  กลุ่มย่อย  แต่ละกลุ่มมีสมาชิกประมาณ  10 – 15  คน  ให้มีหัวหน้ากลุ่มย่อย  กลุ่มละ  1  คน  โดยให้มีการประชุมกลุ่มย่อยกันทุกสัปดาห์  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเครือข่ายจะมีการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันในช่วงการปลูกที่มีความเสี่ยงสูง  5  ระยะ  ดังนี้   
                          1.  ช่วงการย้ายกล้าปลูก         
                         2.  ช่วงก่อนผสมเกสร                      
                         3.  ช่วง  1  สัปดาห์ก่อนไว้ลูก                  
                        4.  ช่วงหลังติดลูก  1  สัปดาห์                     
                        5.  ช่วงเริ่มติดลูก  20  วัน                         
       ในช่วงความเสี่ยงสูง  5  ระยะดังกล่าวจะให้สมาชิกเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด  สมาชิกในกลุ่มทุกคนจะเกิดการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องสม่ำเสมอ  สมาชิกทุกคนจะมีส่วนร่วมในการวางแผนการผลิต  เช่น  การกำหนดวันปลูก  จะมีการจับสลากว่าใครจะได้ปลูกในช่วงใด  ก็จะเริ่มปลูกตามปฏิทินที่จับสลากได้และผลผลิตที่ออกมาก็จะตรงกับความต้องการของลูกค้า ไม่มีปัญหาในเรื่องแตงโมล้นตลาด  เพราะกลุ่มนี้จะใช้หลัก  “การตลาดนำการผลิต”  มีโควตาแน่นอนชัดเจน  เมื่อเสร็จสิ้นฤดูการปลูกจะมีการประชุมทบทวนสรุปบทเรียนกันทุกครั้ง  ว่าแปลงใดได้ผลดีที่สุด  ใช้เทคนิคอย่างไร  ควรจะทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด  มีคุณภาพมากที่สุด  ได้เทคนิคอะไรใหม่บ้าง  แล้วจะนำไปปฏิบัติในฤดูกาลผลิตต่อไป  คุณเตือนใจได้ให้ข้อคิดว่า  “การสิ้นสุดคือการเริ่มต้นใหม่เสมอ” 
เทคนิคการผลิตแตงโมคุณภาพ
        คำว่า  “คุณภาพ”  ของกลุ่มนี้  คือ  เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า  ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค  ความสุขของลูกค้า  สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของผลผลิต  ดังนั้น  การจะผลิตให้ได้คุณภาพดังกล่าวต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดิน  การปลูก  การดูแลรักษา  การตรวจสอบรับรองคุณภาพของกรมวิชาการ-เกษตร  ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าวมีเทคนิคที่น่าสนใจมากมาย  จะขอนำเทคนิคที่ใหม่ ๆ  เล่าให้ท่านทราบดังนี้
1. การเพาะกล้าแตงโม 
          การปลูกแตงโมแบบดั้งเดิมปลูกโดยหยอดเมล็ดลงหลุม  หลุมละ 2-3 เมล็ด ซึ่งทำให้เปลืองเมล็ดพันธุ์  และเสี่ยงต่อการทำลายของแมลงปากกัด  และโรคที่เกิดจากเชื้อรา  อีกทั้งทำให้การเจริญเติบโตของแตงโมแต่ละหลุมไม่พร้อมกัน  ยากต่อการปฏิบัติดูแลรักษาและไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูกแตงโมช่วงฤดูฝนของจังหวัดนครพนม  ซึ่งฝนตกชุกมาก  กลุ่มผู้ปลูกแตงโม อำเภอศรีสงคราม จึงคิดแก้ไขปัญหา  เพื่อลดการสิ้นเปลืองของเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพง  ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง  สม่ำเสมอ ปลอดจากเชื้อรา และพร้อมที่จะลงแปลงปลูก               
           การเตรียมเมล็ดพันธ์แตงโม โดยแช่น้ำอุ่น 4-6 ชั่วโมง  ล้างให้สะอาด ซับด้วยผ้าขนหนูให้พอหมาด วัสดุเพาะเมล็ดใช้กระดาษทิชชูแผ่นใหญ่  วางซ้อนทับ 3 ชั้น  พรมน้ำพอหมาด ๆ  แล้ววางเมล็ดแตงโม 1,000-1,500 เมล็ดลงกลางกระดาษ  พับห่อเป็นชุดๆ ตามปริมาณการใช้และนำผ้าขนหนูที่สะอาด ชุบน้ำบิดหมาดห่อเมล็ดแตงโมอีกชั้นหนึ่ง  และเตรียมกระติกน้ำแข็งที่ปรับสภาพให้มีความอบอุ่นโดยการใช้น้ำร้อนเทใส่กระติกทิ้งไว้  10 นาทีแล้วเทน้ำออก  จากนั้นนำห่อเมล็ดแตงโมใส่กระติก ปิดฝาให้สนิท  ทิ้งไว้ 48-50 ชั่วโมง เมล็ดก็จะเริ่มงอก               
         การเตรียมถุงเพาะกล้า  ใช้ถุงใสขนาด 3 x 4 ซ.ม. กรอกด้วยดินปลูกซึ่งมีส่วนผสมของ หน้าดินป่าน้ำไม่ขัง: แกลบเผา: ปุ๋ยคอกเก่าค้างปี:  อัตรา 7:2:1   ปรับสภาพดินปลูกด้วย ปูนขาว 1 กก. และเพิ่มธาตุอาหารด้วย ปุ๋ยสูตร 15-15-15 บดละเอียด 100 กรัม ต่อดินปลูก 100 กก.  ก่อนจะผสมดินปลูก หน้าดินป่าถ้าเปียกต้องผึ่งในร่มให้หมาดหรือแห้ง  กรอกดินปลูกลงถุงเพาะกล้าทิ้งไว้อย่างน้อย 3 วัน เพื่อลดความเป็นพิษ  คลุมด้วยผ้าพลาสติกไม่ให้ดินเปียกฝนก่อนหยอดเมล็ด               
       การหยอดเมล็ดแตงโม เริ่มจากรดน้ำถุงเพาะด้วยบัวฝอยให้น้ำซึมลงครึ่งถุง  ใช้ไม้เจาะดินและหยอดเมล็ดแตงโมที่เริ่มงอก โรยปิดทับด้วยดินบาง ๆ  แล้วรดน้ำให้ชุ่ม  ในช่วงกลางคืน 2 คืนแรกให้คลุมถุงเพาะด้วยพลาสติกเพื่อรักษาอุณหภูมิในดินให้อุ่น เมล็ดแตงโมจะงอกได้ดี  ทำโครงไม้พร้อมที่จะคลุมด้วยพลาสติคเพื่อป้องกันฝน  ดูแล รดน้ำจนกระทั่งอายุ 12-15 วัน ก็จะได้กล้าแตงไมที่แข็งแรง สม่ำเสมอพร้อมลงปลูกแปลงได้
2. การใช้นมสดป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในแตงโม                               
  เพลี้ยไฟเป็นศัตรูที่สำคัญของแตงโม  สามารถทำลายแตงโตตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว  ถ้าระบาดรุนแรงแตงโมจะชงักการเจริญเติบโต  ยอดตั้ง  ได้ผลผลิตน้อย  ทำให้ประสบปัญหาการขาดทุน  กลุ่มผู้ปลูกแตงโมอำเภอศรีสงคราม  เดิมเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยไฟต้องใช้สารเคมี  ฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัด  ซึ่งมีปัญหาในเรื่องสารเคมีราคาแพง  เป็นอันตรายต่อผู้พ่นและอาจมีสารพิษตกค้างในผลผลิต  จากการบอกเล่าต่อ ๆ  กันมา  การใช้นมสดผสมน้ำฉีดพ่นแตงโมสามารถป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟได้  กลุ่มจึงทดลองใช้  ซึ่งก็ได้ผล  สามารถลดการระบาดของเพลี้ยไฟได้เป็นอย่างดี                          
      วิธีการใช้นมสดผสมน้ำทำได้โดยใช้นมสดชนิดจืดพลาสตเจอร์ไรด์  1  ลิตร  ผสมน้ำ  100 – 200  ลิตร  เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ  โดยฉีดพ่นครั้งแรกหลังจากปลูกแตงโมได้  30  วัน  และครั้งที่  2    อายุ  40  วัน  จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยไฟ  และเป็นการให้ธาตุอาหารเสริมโดยเฉพาะแคลเซียมแก่แตงโม  จากวิธีการดังกล่าวสันนิษฐานว่า ขณะที่ฉีดพ่นเพลี้ยไฟจะบินขึ้นทำให้น้ำนมถูกปีกเพลี้ยไฟ  จะทำให้ปีกเหนียว  ขยับตัวลำบาก  บินไม่ได้  ขยายพันธุ์ไม่ได้และจะตายในที่สุด  จึงลดการระบาดของเพลี้ยไฟได้เป็นอย่างดี
3. การใช้ถุงแกลบป้องกันเสี้ยนดินในการปลูกแตงโม                          
       เสี้ยนดินเป็นแมลงศัตรูแตงโม  มักเข้าทำลายในช่วงลูกแตงโมเริ่มสะสมน้ำตาลหรือหลังจากติดลูกแล้ว  ประมาณ  20  วัน จนถึงเก็บเกี่ยว โดยการเจาะกินตรงจุดที่สัมผัสกับผิวดิน ทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดกับการปลูกแตงโมในที่ดอน การใช้สารเคมีป้องกัน กำจัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตเพราะอยู่ในระยะเก็บผลผลิต    กลุ่มผู้ปลูกแตงโมอำเภอศรีสงคราม  คิดแก้ไขปัญหา  โดยรู้ในหลักการแล้วว่าลูกแตงโมต้องลอยห่างจากพื้นดิน  ซึ่งเสี้ยนดินจะทำลายไม่ได้  โดยการปรับใช้วัสดุ อุปกรณ์ในพื้นที่  ในระยะแรกใช้กิ่งไม้  2  ถ่อน วางใต้ลูกแตงโม   ก็แก้ไขปัญหาจากเสี้ยนดินได้บาง  แต่ก็มีปัญหาเรื่องการตัดไม้  ลูกแตงโมตกจากกิ่งไม้เพราะท่อนไม้ยุบลงดิน  ทดลองใช้กล่องโฟมใส่อาหารวางรองก็แก้ไขปัญหาได้แต่ต้นทุนการผลิตจะสูง   และพบว่าการใช้แกลบดิบใส่ถุงพลาสติกวางรองลูกแตงโม  สามารถป้องกันเสี้ยนดินไม่ให้เข้าทำลายแตงโมได้ดีและเหมาะสมที่สุด  ต้นทุนการผลิตต่ำ วัสดุหาได้ง่ายในพื้นที่  จึงแนะนำให้สมาชิกกลุ่มใช้ถุงแกลบรองลูกแตงโมเพื่อป้องกันเสี้ยนดินมาจนถึงปัจจุบัน
               วิธีการทำถุงแกลบป้องกันเสี้ยนดินก็ทำง่าย  เพียงใช้แกลบดิบใส่ถุงหูหิ้ว  ขนาด  6x11  นิ้ว  ให้มีความหนาอัดแน่นไม่ต่ำกว่า  3  ซ.ม.  มัดปากให้แน่น  วางคว่ำปากถุงลงดิน ยกลูกแตงโมวางขวางตะเข็บก้นถุง  ซึ่งแตงโมจะเจริญเติบโตต่อไปและไม่ตกจากถุง  จากการสังเกตเสี้ยนดินเจาะถุงพลาสติกเพื่อจะขึ้นมาหาลูกแตงโมบ้าง  แต่ไม่ถึงลูกแตงโม  สันนิษฐานว่า  แกลบดิบมีความสากและความคมอาจมีผลต่อการกัดและระคายผิวของตัวเสี้ยนดิน
4. การรักษาคุณภาพแตงโม         
            ปัญหาเรื่องคุณภาพแตงโมไม่ได้มาตรฐาน ไส้ล้ม สีไม่สวย เนื้อไม่หวาน  ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการตลาดแตงโม  เพราะถ้าผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เสียตลาดและความเชื่อถือของลูกค้าได้  กลุ่มผู้ปลูกแตงโม อำเภอศรีสงคราม  มีวิธีการรักษาคุณภาพแตงโมให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ  โดยมีการตรวจสอบคุณภาพของแตงโมทุกแปลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย  เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
                การรักษาคุณภาพแตงโมให้คงสภาพสวย สด ได้ถึง 15 วัน  และสามารถเก็บรักษาได้ยาวนานถึง 3 เดือนนั้น  ทุกขั้นตอนการผลิตต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เอาใจใส่  มีความละเอียด  เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงเก็บเกี่ยว  โดยเฉพาะความสมดุลของน้ำและธาตุอาหาร จะทำให้แตงโมเจริญเติบโตสมบูรณ์ มีความแข็งแรง ผลผลิตก็มีคุณภาพและเก็บรักษาได้ยาวนาน  และเทคนิคการปฏิบัติในระยะการเก็บเกี่ยวเป็นอีกวิธีที่มีผลต่อการรักษาคุณภาพแตงโม  ได้แก่ งดการให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว 3-5 วัน  เก็บผลผลิตช่วงเช้าขณะอากาศเย็น และตัดให้มีขั้วติดผลให้ยาวที่สุด  รวมทั้งลดการกระแทกขณะขนย้าย วางกองสูงไม่เกิน 3 ชั้นบนพื้นแห้ง อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันแดดและฝน ตลอดจนขนส่งผลผลิตในเวลากลางคืน
             นอกจากเทคนิคสำคัญ  4  อย่าง  ที่เล่ามาข้างต้นนี้  ยังมีเทคนิคปลีกย่อยอีกบางประการในการผลิตแตงโมคุณภาพของกลุ่มหากท่านต้องการรายละเอียด  เพิ่มเติมสามารถสอบได้โดยตรงกับ           คุณเตือนใจ  บุพศิริ  บ้านเลขที่  24  หมู่ที่ 9  ตำบลนาคำ  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  โทรศัพท์    08-1739-3279  คุณเตือนใจ  ยินดีแลกเปลี่ยนรู้  เท่าที่สังเกตคุณเตือนใจเป็นคนที่แสวงหาโอกาสในการเรียนรู้  และจะฉวยโอกาสทันทีเมื่อมีโอกาส  แตงโมคุณภาพของกลุ่มคุณเตือนใจ  นอกจากจะได้การรับรองคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว  ยังได้รับการยืนยันจากท่านพ่อเมืองจังหวัดนครพนม  (นายนิคม       เกิดขันหมาก)  ว่ามั่นใจในคุณภาพจริง ๆ  ปลอดภัยจากสารพิษ  รสชาติดีมาก  จึงทำให้ท่านเกษตรจังหวัดนครพนม  (นายสุทธิชัย  ยุทธเกษมสันต์) ต้องออกเยี่ยมกลุ่มให้คำปรึกษาแนะนำกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำทุกเดือน                            
           ผมให้ข้อมูลตอนท้ายด้วยว่า  คุณเตือนใจเป็นหญิงแกร่ง  เป็นคนที่มีการจัดการความรู้       ดีมาก  เขาให้ข้อคิดว่า  การมีความรู้จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำความรู้ไปบริหารจัดการ  จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง  ยอมรับจริง ๆ  เพราะนอกจากทำแตงโมแล้ว ยังมีสวนยางพารา  สวนส้มเขียวหวาน  ส้มโอ  น้อยหน่า  แถมยังโสดอีกต่างหาก


ที่มา : gotoknow.orggotoknow.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น